Thursday, November 16, 2017

นิยามความดันโลหิต 2017

รู้หรือยัง ? #ความดันโลหิต 130/80 มม.ปรอท ก็ถือว่าเป็น โรคความดันโลหิตสูงแล้วนะ!
เมื่อคืนวานนี้ ตามเวลาประเทศไทย สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา ได้มีการปรับแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง จากเดิมนิยามที่ความดันโลหิต มากกว่า 140/90 มม.ปรอท มาเป็นมากกว่า 130/80 มม.ปรอท เนื่องจากมีงานวิจัยหลายรายงานบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตด้วยเช่นกันและควรได้รับการควบคุมความดันตั้งแต่เนิ่นๆ

เพราะความรู้และข้อมูลทางการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงให้ความสำคัญกับการอัพเดตข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้กับทุกคน

อีกหนึ่ง "อุบายขายโรค" ของบริษัทยาภายใต้การสนับสนุนของ "สมาคมวิชาชีพด้านการแพทย์"
นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วเมื่อต้นปีค.ศ.2000 เมื่อนายเฮนรี แกรดส์เดน ประธานบริษัทเมอร์คเกิดคิดขึ้นมาว่า ถ้าบริษัทของเขามัวแต่ขายยาลดไขมันให้กับผู้ที่ป่วยแล้วก็จะรวยช้า จำเป็นอยู่เองที่บริษัทของเขาจะรวยเร็วยิ่งขึ้น โดยการทำให้ผู้ที่ยังไม่ป่วยเกิดเข้าใจว่าตัวเองป่วย แล้วหันมากินยาของเขา คิดได้ดังนั้นแล้วเขาก็จัดการ "ทำใต้โต๊ะ" กับคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีหน้าที่ในการกำหนดค่าปกติของระดับคอเลสเตอรอล แล้วคณะกรรมการชุดนั้นก็ประชุมกันโดยกำหนดค่าปกติของคอเลสเตอรอลซึ่งเดิมถือตัวเลขที่ 250mg.% ให้ลดลงเป็น 200 mg.% ผลก็คือในคืนนั้นคนทั่วโลกก็นอนหลับไป ตื่นเช้าขึ้นมามีคนหลายสิบล้านคนทั่วโลกที่เมื่อวานนี้ตนยังเป็นคนสุขภาพปกติ แต่ตื่นเช้าขึ้นมากลายเป็นผู้ป่วยคอเลสเคอรอลสูงไปเสียแล้ว จากนั้นเป็นต้นมา ยาลดไขมันก็กลายเป็นยาที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมในหนังสือ "อุบายขายโรค" สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน)

การประกาศตัวเลขใหม่ของการเป็นผป. #ความดันเลือดสูง เที่ยวนี้ คงจะทำให้ยาลดความดันแซงหน้าเป็นยาขายดีที่สุดของมนุษยชาติ แซงหน้ายาลดไขมัน

ทีนี้ละ คนไทยจะคอยดูว่า กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา รวมทั้งราชวิทยาลัยทางอายุรกรรมต่างๆ จะมีมติตามอเมริกันหรือเปล่า? และสปสช.จะต้องเตรียมงบอีกเท่าไหร่ที่จะ "ตำลงไปละลายแม่น้ำ"

วงการแพทย์เปลี่ยนนิยามโรค #ความดันเลือดสูง ครั้งใหญ่
วันนี้ผมนั่งอ่านคำแนะนำการรักษาโรคความดันเลือดสูงฉบับใหม่ซึ่งสมาคมหัวใจอเมริกันและวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (AHA/ACC) เพิ่งประกาศใช้ คำแนะนำนี้จะมาแทนมาตรฐานเดิม (JNC7) ดังนี้
สาระของมาตรฐานใหม่

1. ความดันปกติ คือต้องไม่เกิน 120/80 มม.
2. ถ้าความดันตัวบนอยู่ระหว่าง 120-129 ขณะที่ความดันตัวล่างไม่เกิน 80 ให้เรียกว่าภาวะความดันเพิ่มขึ้น (elevated BP)
3. ให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงระยะที่หนึ่ง เมื่อความดันสูงตั้งแต่ 130/80 ขึ้นไป
4. ให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงระยะที่สอง เมื่อความดันสูงตั้งแต่ 140/90 ขึ้นไป
5. ให้วินิจฉัยว่าเป็นวิกฤติความดันเลือดสูง (Hypertensive crisis) เมื่อความด้นสูงตั้งแต่ 180/120 ขึ้นไป
6. ให้เริ่มการรักษาความดันเลือดสูงระยะที่หนึ่งด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารและการใช้ชีวิต แต่กรณีเป็นความดันเลือดสูงระยะที่หนึ่งที่มีโรคร่วมหรือมีคะแนนความเสี่ยงสูง ให้เริ่มรักษาด้วยยา
7. ให้ยอมรับผลการวัดความดันที่บ้านเป็นข้อมูลร่วมในการรักษา

มาตรฐานใหม่นี้จะทำให้คนจำนวนมากที่ความดันอยู่ระหว่าง 130/80 ถึง 139/89 ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นคนปกติ ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูงและกลายมาเป็นลูกค้าของวงการแพทย์ทันที ซึ่งจะมีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือ

ผลดีก็คืือคนที่อยู่ๆก็ถูกจั๊มตราวินิจฉัยว่าป่วยเป็นความดันเลือดสูงแล้วจะเกิดความกลัวตายจากโรคปลายทางของความดันเลือดสูงซึ่งแต่ละโรคร้ายๆทั้งนั้นได้แก่ โรคอัมพาต โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง ความกลัวนี้จะทำให้ขวานขวายเปลี่ยนแปลงการกินการใช้ชีวิตของตัวเองใหม่อย่างจริงจัง นั่นเป็นข้อดี

ผลเสียก็คือจะมีคนจำนวนมาก คือประมาณ 10% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงเพิ่มขึ้น ในจำนวนนี้ผู้ที่ถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงสูงจะถูกรักษาด้วยยา ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ยาเพิ่มขึ้น อันจะเป็นภาระกับชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาล เพราะเมืองไทยเรานี้ยาเกือบทั้งหมดเป็นยาฟรี ฟรีแต่ว่ารัฐต้องออกเงินซื้อมาจากต่างชาตินะ แล้วเอามาจ่ายฟรีผ่านระบบสามสิบบาท ประกันสังคม และสวัสดิการราชการ ทั้งสามระบบนี้ครอบคลุมประชากร 100% เรียกว่าใครใคร่ได้ยาดีๆฟรีๆก็จะมีสิทธิ์ได้ทันที ได้มาแล้วจะกินหรือเอาไปโปรยทิ้ง นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อสังเกตของหมอสันต์

หลังจากพลิกๆดูงานวิจัยกว่า 900 รายการที่คณะทำงานใช้เป็นหลักฐานประกอบการออกคำแนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลวิจัยที่ผมคุ้นๆตาอยู่แล้ว ผมขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้

1. ผลเสียที่จะตามมาจากการเพิ่มการใช้ยา คือพิษภัยที่เกิดจากการกินยามากและกินยานานนั้น คำแนะนำใหม่นี้ไม่ได้วิเคราะห์ และไม่ได้พูดถึงเลย

2. คำแนะนำบอกเพียงแต่ว่าการรักษาขั้นแรกต้องปรับเปลี่ยนอาหารและการใช้ชีวิต แต่ไม่ได้ย้ำแบบให้ความสำคัญ ดังนั้นแพทย์ยังคงต้องใช้ข้อมูลของคำแนะนำการรักษาความดันเลือดสูงเก่า (JNC7) ที่สรุปหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่องผลการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่อการลดความดันเลือดไว้ดีมากดังนี้
2.1 คนอ้วนถ้าลดน้ำหนักได้ 10 กก. ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 20 มม.
2.2 ถ้าเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลัก (DASH diet) ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 14 มม.
2.3 ถ้าออกกำลังกายสม่่ำเสมอ ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 9 มม.
2.4 ถ้าลดเกลือลงเหลือระดับจืดสนิท ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 8 มม.
2.5 คนที่ดื่มแอลกอฮอลมาก ถ้าลดลงเหลือดื่มแค่พอดี ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 4 มม.

3. หลักฐานใหม่ๆบางชิ้นมีความสำคัญมากในแง่ที่จะช่วยลดความดันเลือดลงโดยไม่ต้องใช้ยา แต่คำแนะนำนี้กลับไม่ได้พูดถึงเลย เช่น

3.1 งานวิจัยความเสี่ยงโรคหัวใจคนหนุ่มสาว (CARDIA) ซึ่งตามดูคนหนุ่มสาว 5,115 คน นาน 15 ปีี พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการกินพืช (ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ถั่ว นัท) กับการลดความดันเลือด เป็นความสัมพันธ์แบบยิ่งกินมากยิ่งลดมาก (dose dependent) ขณะเดียวกันก็พบความสัมพันธ์ในทางตรงข้ามกับการบริโภคเนื้อสัตว์ คือยิ่งกินเนืื้อสัตว์มาก ยิ่งมีความดันเลือดสูงขึ้นมาก

3.2 งานวิจัยในยุโรป (EPIC trial) ซึ่งวิเคราะห์คนอังกฤษ 11,004 คนพบว่าในบรรดาคนสี่กลุ่ม คือกลุ่มกินเนื้อสัตว์ กลุ่มกินปลา กลุ่มมังสะวิรัติ กลุ่มกินเจ (vegan) พบว่ากลุ่มกินเนื้อสัตว์มีความดันสูงสุด กลุ่มกินเจหรือ vegan มีความดันต่ำสุด

3.3 งานวิจัยยำรวมข้อมูลติดตามสุขภาพพยาบาล (NHS) และบุคลากรแพทย์ (HPFS) ของฮาร์วาร์ดซึ่งมีคนถูกติดตาม 188,518 คน (2,936,359 คนปี) พบว่าการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งปูปลากุ้งหอยเป็ดไก่ไข่นม ล้วนสัมพันธ์กับการเป็นความดันเลือดสูง

3.4 มีหลักฐานว่าความพยายามจะลดความดันเลือดในผู้สูงอายุลงมากเกินไปมีผลเสียมากกว่าผลดี จน JNC8 นำมาออกเป็นคำแนะนำเมื่อสองปีก่อนว่าไม่ควรใช้ยาหากความดันเลือดตัวบนในผู้สูงอายุ (เกิน 60 ปี) ไม่สูงเกิน 150 มม. แต่ในคำแนะนำใหม่นี้กลับไม่พูดถึงประเด็นผู้สูงอายุเลย

บทสรุปสำหรับท่านผู้อ่าน

1. ความดันเลือดเป็นดัชนีที่ดีที่สุดที่จะบอกว่าใครจะเป็นโรคและจะตายเร็ว นั่นเป็นของแน่

2. ความสัมพันธ์ระหว่างความดันเลือดที่สูงกว่า 130/80 กับการเพิ่มอัตราตายนั่นก็เป็นของแน่

3. การปรับเปลี่ยนอาหารและการใช้ชีวิตในประเด็นลดอาหารเนื้อสัตว์ เพิ่มอาหารพืช ออกกำลังกาย ลดเกลือ ลดแอลกอฮอล ทำให้ความดันเลือดลดลง นั่นก็เป็นของแน่

4. ในคนที่ไม่ปรับอาหารและการใช้ชีวิต หรือปรับแล้วไม่สำเร็จ การใช้ยาลดความดันเลือดเป็นทางเลือกที่จำเป็นและปลอดภัยกว่าไม่ใช้ นั่นก็เป็นของแน่

ทั้งสี่ประเด็นนี้คือสัจจธรรมเรื่องความดันเลือดสูง ท่านเอาไปประยุกต์ใช้เอาเองก็แล้วกัน ส่วนท่านจะเริ่มใช้ยารักษาความดันตัวบนตามมาตรฐานเก่า (140 ขึ้นไป) หรือมาตรฐานกลางเก่ากลางใหม่ (150 ขึ้นไปถ้าเป็นผู้สูงอายุ) หรือมาตรฐานใหม่ (130 ขึ้นไป รูดมหาราชทุกอายุ) ท่านไปคุยกับหมอของท่านเอาเองก็แล้วกัน แต่อย่ามาคุยกับหมอสันต์นะ เพราะจะถูกหมอสันต์บี้ให้ปรับอาหารและการใช้ชีวิตแทนยาตะพึด ความดันยังไม่ลงก็ปรับอีก ยังไม่ลงก็ปรับอีก อีก อีก จนท่านอาจจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ทุกชนิดเลย ดังนั้นถึงจุดหนึ่งท่านจะต้องเลือกในระหว่างการเข้มกับวินัยในการดูแลตัวเองเพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งคนอื่น หรือการถูกตีตราเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จะต้องพึ่งแพทย์ โรงพยาบาล และบริษัทยา ไปตลอดชีวิต

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

Cr http://visitdrsant.blogspot.com/2017/11/blog-post_94.html

คำอธิบายแบบพื้นฐานสำหรับแนวทางการรักษาโรค #ความดันโลหิตสูง ตามคำแนะนำสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเพราะอะไร ผมขออธิบายเป็นข้อๆ เพื่อให้อ้างถึงแต่ละข้อได้สะดวก รายละเอียดเชิงลึกนั้นหากคุณหมอหรือท่านใดต้องการทราบเชิงลึก ผมคิดว่าแนวทางนี้ละเอียด ครบถ้วนและชัดเจน
พื้นฐานก่อนหน้านี้คือ เราได้ศึกษากลุ่มคนไข้ที่ความดันโลหิตสูงตอนนั้นคือเกิน 140/90 พบว่าในกลุ่มที่ 130-139/80-89 ยังมีความเสี่ยงอยู่ เราจึงพยายามรักษาโดยรวมแต่พบว่าประโยชน์ที่ได้ไม่มากนัก แต่ถ้ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงโรคหัวใจสูงการให้การรักษาจะมีประโยชน์ขึ้น
และในคนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วการดึงความดันลงต่ำกว่า 140 /90 (โดยที่ไม่มีความดันโลหิตต่ำจนอันตราย) ยังมีประโยชน์ในการลดอัตราการเสียชีวิตและโรคหัวใจและหลอดเลือดลง

1. ตัวเลขที่ 130/80 มาจากการศึกษาติดตามกลุ่มประชากรที่ระดับความดันโลหิตต่างๆ ว่าติดตามไปแล้วเกิดอันตรายต่อหัวใจหรือหลอดเลือดอย่างไร การศึกษาบอกว่าแม้ความดันที่ต่ำกว่า 140/90 ก็ยังเสี่ยง และกลุ่มที่เสี่ยงมากนั่นคือ 130-139 นั่นเอง หากเราจัดตัวเลขที่ 130/80 เราจะได้นับรวมคนไข้ที่เสี่ยง เข้าสู่กระบวนการการรักษา (ซึ่งอาจจะใช้ยาหรือไม่ใช้ยาก็ได้) เพราะอดีต คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลเลย ก็ไม่ได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงเลย

2. แม้กระทั่งในแนวทางนี้เองก็ได้ประเมินชัดเจนว่าหากปรับตัวเลขลง ประชากรที่จะได้รับการวินิจฉัยความดันโลหิตสูงจะเพิ่มจาก 32% เป็น 46% และส่วนมากก็เป็นประชากรผู้สูงวัย แต่เมื่อเราให้การดูแลคนกลุ่มนี้ อัตราการตายและเกิดโรคลดลง เมื่อคิดทางเศรษฐศาสตร์แล้วดีกว่าไปรักษาปลายทาง ดีกว่าปล่อยเอาไว้โดยไม่ให้การดูแล (intervention) ใดๆ เพราะความดันโลหิตสูงคือฆาตกรอันดับหนึ่งของโลกตอนนี้

3. ความสำคัญมากๆจึงอยู่ที่การวัดความดัน แนวทางเน้นเรื่องการวัดความดันที่ถูกต้องสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะตัวเลขที่ออกมาจะชี้ชะตาคนไข้ได้ แนะนำวัดมากกว่าสองโอกาส คือ ไม่ใช่ว่าวัดทีเดียวแล้วจบ อย่างไรต้องวัดอีกสักที สองวันหรือสองสัปดาห์ตามความเหมาะสม และเน้นว่าการวัดค่าความดันโลหิตเองที่บ้าน มีประโยชน์ช่วยวินิจฉัยได้แม่นยำกว่า และ ใช้ปรับยาในการรักษาได้ถูกต้องมากกว่า (ไม่ได้กล่าวถึง ABPM ในที่นี้นะครับ)
** สรุป ใครสงสัยว่าเป็นหรือเป็นโรค อย่างไรก็ต้องวัดความดันโลหิตเองที่บ้านให้ได้ **

4. การวัดเองที่บ้านจะช่วยแยก white coat effect คือ กลัวหมอ มาหาหมอความดันโลหิตสูงพอกลับบ้านไม่สูงเท่านี้ และ Masked Uncontrolled hypertension คือ มาหาหมอความดันปกติหรือไม่สูงมาก แต่กลับไปบ้านสูงมาก เพราะสองภาวะนี้จะทำให้ตัดสินใจรักษาผิดพลาดได้

5. ทุกครั้งที่พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แม้ว่าส่วนมากและเกือบทั้งหมดจะเป็น essential hypertension คือเกิดจากพันธุกรรม พฤติกรรม อาหาร ฯลฯ แต่อย่างไรก็ต้องมองหาโอกาสที่จะเป็นโรคความดันสูงอันเกิดจากสาเหตุอื่นๆเสมอ แต่ว่าจะทำการทดสอบเมื่อสงสัยเท่านั้น เช่น แขนขาไม่มีแรง อ้วนมากๆเร็วๆ หรือใช้ยาที่ทำให้ความดันขึ้น พวกนี้ไม่ต้องทำทุกราย ทำเมื่อสงสัย และถ้าทำการทดสอบแล้วมีแนวโน้มจะเป็นโรคอื่นๆที่ทำให้ความดันโลหิตสูง โรคพวกนี้พบน้อยและซับซ้อน ควรพบผู้เชี่ยวชาญ

6. เมื่อพบว่าเป็นความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องตรวจหาโรคร่วมและความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆด้วย เช่นสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เบาหวาน ไตเสื่อม และให้การดูแลร่วมด้วยเสมอ เพราะอย่าลืมว่าเป็นการรักษาไม่ใช่แค่ลดตัวเลขความดันเท่านั้น แต่เป็นการลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดอัตราตาย จึงต้องลดปัจจัยอื่นๆด้วยเสมอ การรักษาความดันโลหิตเพียงอย่างเดียวโดยไม่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นด้วยจะไม่ประสบความสำเร็จสูงสุดแน่นอน

7.เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงแล้ว สิ่งที่ต้องทำ ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน ในทุกๆคน ทุกๆแบบ ทุกๆระยะ คือการปรับปรุงชีวิตและการกินอาหารเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง และต้องทำตลอดชีวิตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะใช้ยาหรือไม่ก็ตาม เป็นคำแนะนำระดับ Class I และมาจากหลักฐานที่ดีมากทั้งสิ้น สรุป การปฏิบัติตัวต้องทำเสมอ
**เหตุผลของการใช้ค่าความดัน 130/80 เพื่อดึงกลุ่มนี้มาทำการรักษาข้อนี้เพื่อลดความเสี่ยงครับ ไม่ใช่เพื่อให้ยาเท่านั้น**

8. การเลือกใช้ยา สำหรับความดันเกิน 140/90 ซึ่งถือเป็นขั้นที่สองก็แนะนำให้ใช้ยาพร้อมการปรับชีวิตได้เลย (จริงๆสามารถใช้การปรับชีวิตก่อนได้ถ้าไม่เป็นโรคหัวใจหรือเสี่ยงไม่มาก) และถ้าเกิน 160/100 ให้เริ่มยาได้เลยและอาจใช้ยาสองตัวเลย ติดตามการรักษาบ่อยเพื่อระวังผลข้างเคียงจากยาและความดันโลหิตต่ำในช่วงแรกของการรักษา หลังจากนั้นก็ปรับแต่งการรักษาเป็นระยะๆเป้าหมายที่ไม่เกิน 130/80

9. ตอบคำถามหลายคน ..ความดัน 130-139/80-90 หรือความดันโลหิตสูงระยะที่หนึ่ง ต้องให้ยาทุกรายไหม จะเปลืองค่ายาค่าการรักษาไหม ว่าตามหลักฐานการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงไม่ได้มีหลักฐานแจ่มชัดนัก ประโยชน์จะมากหากความเสี่ยงสูง จึงมีคำแนะนำดังนี้
วรรคหนึ่ง หากมีโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว แนะนำให้ยาและระวังผลข้างเคียงจากยา
วรรคสอง หากไม่มีโรคหัวใจ ให้พิจารณาความเสี่ยงโรคหัวใจในสิบปี ด้วยเครื่องมีที่ชื่อว่า ASCVD risk estimator หากความเสี่ยงเกิน 10% และไม่มีข้อควรระวังการใช้ยา จึงพิจารณาให้ยา
**ไม่ได้ให้ยาทุกรายนะครับ แต่ต้องดูแลทุกราย**

10. เป้าการรักษาที่ไม่เกิน 130/80 แต่ถ้าไม่มีโรคร่วม ร่างกายแข็งแรง ไม่มีผลเสียจากยา จะลดให้ต่ำกว่านี้(130/80) ก็ได้ การใข้ยาก็ไม่ต่างจากเดิมนัก ยาขับปัสสาวะ thiazide, ยา ACEI,ARB ยา CCB ไม่ระบุ beta blocker ในยากลุ่มแรกแล้ว การใช้ก็แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคน ปรับเป็นรายๆไปครับ อย่าลืมปรับให้ได้เป้าและระวังผลข้างเคียงของการรักษา ผู้สูงอายุที่อายุเกิน 65 ปีและมีโรคร่วมอื่นมาก อาจพิจารณาลดความเคร่งครัดลง เช่นใช้ยาน้อยลงหรือยอมรับค่าความดันที่สูงขึ้น นอกนั้นก็130/80หมด
**การปรับแต่งการรักษา เป็นการปรับแต่งเป็นรายๆไป (individualized care) **

11. ส่งเสริมการใช้ยาวันละครั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และอาจพิจารณายาเม็ดรวมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกินยา และควรดูแลคนไข้จัดตั้งทีม ดูแลเป็นทีมเช่นเดียวกับเบาหวานจะเพิ่มประสิทธิผล และบรรลุเป้าหมายได้ดีกว่า

ส่วนรายละเอียดในแต่ละภาวะพิเศษ การใช้ยา ข้อระวังต่างๆ ภาวะฉุกเฉิน ผ่าตัด ตั้งครรภ์ รายละเอียดดีมากและดีกว่าหลายๆแนวทางความดันสูงที่ผมอ่านมาในช่วงห้าปีนี้ ใครสนใจต้องไปอ่านเพิ่ม เรื่องพวกนี้เชิงลึกไปสำหรับเราๆท่านๆ และสุดท้ายคงต้องรอมาปรับใช้กับคนไทยและบริบทเมืองไทยตามความเหมาะสมครับ การใช้เครื่องมือ 10 years ASCVD risk ซึ่งมีฐานข้อมูลคนเอเชียน้อย และใช้ในคนไทยจะประเมินความเสี่ยงสูงกว่าความเป็นจริง ส่วนจะใช้ thai cv risk ได้หรือไม่ต้องรอการ validate ข้อมูลก่อนครับ

บ่ายนี้ขอให้โชคดีทุกคน

จากงานวิจัยพบว่าค่าความดันโลหิตสูงระดับ 130/80 เริ่มเกิดความเสี่ยงเกิดภาวะสโตรกหรือเส้นเลือดอุดตันก่ออันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น ผู้คนควรปรับเปลี่ยนความคิดใหม่เรื่องระดับค่าความดันโลหิต.ซึ่งการปรับค่านี้ ทำให้ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคนเข้าเกณฑ์ความดันสูงทันที
อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1126688

#ความดันเลือด


Is your blood pressure under control? If it’s higher than 130/80, your doctor may want to take a closer look. #AHA17

New guidelines show you probably now have #hypertension. #HighBloodPressure
http://bit.ly/2zBZZft









ด้วยความห่วงใย
.....................
BETTER PHARMACY เจ็ดยอด เชียงใหม่
เราคัดสรรสิ่งที่ดี มีคุณภาพ เพื่อคุณ

FACEBOOK / BetterPharmacyCMG
LINE ID - BETTERCM
.....................




UPDATE  -  2017.11.16

No comments:

Post a Comment