อาหารเสริมกับโรคข้อ
นพ. พงษ์ศักดิ์ วัฒนา
เป็นความเชื่อของมนุษย์เราตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ที่พยายามขวนขวายหาวิธีการลดอาการปวดของข้อต่อที่อักเสบ ตลอดจนอาการปวดทุกชนิดที่เป็นเรื้อรังและไม่ทราบสาเหตุ โดยการเลือกหรืองดอาหารบางประเภท ว่าสามารถลดอาการปวดลงได้
ในปัจจุบันนี้ได้มีการพิสูจน์ที่แน่นอนว่าอาหารที่มีกรดยูริกสูง อาทิเช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผักบางประเภท จะทำให้มีอาการกำเริบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าต์ได้ กรุณาเข้าใจว่าการงดอาหารเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้โรคเก๊าต์หายไป ด้วยยาที่รักษาโรคเก๊าต์ในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าต์ก็ยังคงสามารถรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกได้ และยังคงดื่มแอลกอฮอล์ในวงสังคมได้
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป แม้แต่ในประเทศไทยมีการจำหน่ายอาหารเสริมกันอย่างมากมาย และมีการอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคจากอาการปวดได้ทุกชนิด เป็นธุรกิจที่ดีมาก อาหารเสริมดังกล่าวมีดังนี้
1. อาหารเสริมแคลเซี่ยม
2. วิตามินเสริม
3. น้ำมันจากปลา ( Fish Oil )
4. เกลือแร่ต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็ก , ธาตุสังกะสี
5. สมุนไพรชนิดต่าง ๆ
6. กระเทียม
7. น้ำผึ้ง
8. กลูโคซามีน , ดอนครอยติน ( Glueosamine และ Chondroitin )
9. น้ำผลไม้ น้ำจากลูกยอทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ
อาหารเสริมเหล่านี้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถรักษาโรคอาการปวดข้อ หรืออาการปวดเรื้อรังน้อยมาก ในต่างประเทศกลุ่มของอาหารเสริมสามารถจะหาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยา ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อซึ่งพวกเราคงทราบแล้วว่ากว่าร้อยละ90ของโรคข้อเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องรับประทานยาต้านการอักเสบ (N’SAID s) เป็นระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ก็พยายามดิ้นรนที่จะรักษาโรคข้อให้หายขาดจากการแนะนำของเพื่อน การโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ หรือการซื้อขายทางตรง ( Direct Sale ) เพื่อหวังว่าอาการทางโรคข้อมีโอกาสหายขาดได้ การซื้ออาหารเสริมมารับประทานกันเองทำให้ต้องสูญเสียเงินทองอย่างมหาศาลในแต่ละปี ผู้เขียนเคยพบอาหารเสริมจำนวนมากมายจากผู้ป่วยที่มารักษาที่คลินิกส่วนตัวที่นำมาให้ดู โดยที่ญาติอาจจะเป็นลูกหรือพี่น้องที่หวังดีซื้อส่งมาจากประเทศอเมริกา มาให้รับประทาน
วิตามินเสริม ในขนาดที่แนะนำจะไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพแต่ถ้ารับประทานวิตามินเอ หรือวิตามินดี ในขนาดที่สูงกว่าที่กำหนดไว้จะมีอันตรายต่อสุขภาพได้
อาหารเสริมที่มีไขมันต่ำ และมีใยอาหาร ผลไม้หรือผัก จะมีประโยชน์ต่อคนทุกคน
ธาตุเหล็ก ใช้ในการรักษาในโรคโลหิตจาง ซึ่งพบบ่อยในคนที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สาเหตุการเป็นโรคโลหิตจางมีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เอง หรือจากการรับประทานยาต้านอักเสบ ( N ’ SAID s ) ทำให้เกิดแผลในกระเพาะหรือจากรับประทานยาสเตียรอยด์มานาน ๆ การรับประทานธาตุเหล็กอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์โรคข้อทุกครั้งก่อนรับประทานธาตุเหล็ก
แคลเซี่ยมเป็นอาหารเสริมยอดฮิตในปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปเมื่อมีอาการปวดจากข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบชนิดใดก็ตาม จะไปซื้อแคลเซี่ยมมารับประทาน ทำให้บริษัทขายนมมีการผสมระดับของแคลเซี่ยมให้สูงขึ้น เพื่อเป็นจุดขายของสินค้าของตน
แคลเซี่ยมจะมีประโยชน์
1. ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต
2. ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องแบ่งแคลเซี่ยมที่แม่รับประทานไปให้ลูกในท้อง
3. ในผู้สูงอายุที่รับประทานลำบาก และระบบย่อยอาหารไม่ค่อยดี
4. ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง
แคลเซี่ยมจะช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ป้องกันโรคกระดูกโปร่งบาง ( Osteoporosis ) ซึ่งโรคนี้ปกติจะไม่ค่อยมีอาการปวด จะมีอาการปวดเมื่อกระดูกหักแล้ว ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิด คิดว่าแคลเซี่ยมสามารถรักษาโรคข้ออักเสบได้ ( Arthritis ) บางคนดื่มนมตลอดทั้งวันเพื่อให้อาการปวดเข่าหายไป ซึ่งนอกจากจะเสียเงินแล้วยิ่งทำให้ตนเองอ้วนมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
กลูโคซามีน และคอนตรอยติน
อาหารเสริมในกลุ่มนี้เป็นที่นิยมกันมาก มีกว่า 100 ชนิด ผลิตจากหลายบริษัท กลูโคซามีน สกัดมาจากกระดองปู กุ้งมังกร และเปลือกกุ้ง ส่วนคอนตรอยติน สกัดมาจากหลอดลมของวัว ควาย โดยเชื่อว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะช่วยซ่อมสร้างผิวกระดูกอ่อนที่ปลายกระดูกในข้อต่อเสื่อม ให้กลับฟื้นขึ้นมาได้ และทำให้ลดอาการปวดลง แพทย์กระดูกและข้อในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่เชื่อว่าอาหารเสริมกลุ่มนี้ช่วยรักษาข้อเสื่อมได้ แต่แพทย์กระดูกและข้อในทวีปยุโรปมีความเชื่อว่าช่วยรักษาได้ โดยสรุปแล้วการรักษาโรคข้อเสื่อมด้วยกลูโคซามีน และคอนดรอยตินในโรคข้อเสื่อมยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่มีหลักการคร่าว ๆ ดังนี้
ถ้ารับประทานยาในกลุ่มนี้แล้วไม่ได้ผลในการลดอาการปวดจากข้อเสื่อมในระยะเวลา 1 – 2 เดือน ควรหยุดยาได้แล้ว ปกติจะได้ผลในระยะเวลา 6 – 8 สัปดาห์ โดยใช้ขนาดดังนี้
กลูโคซามีน 1,500 มก. / วัน
คอนดรอยติน 1,200 มก. / วัน
1. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อย ร้อยละ 0.3-1.5 ในประชากรทั่วไป เป็นโรคข้อที่ไม่ทราบสาเหตุ และรักษาไม่หายขาด มีการอักเสบของข้อต่อทุกข้อในร่างกาย ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาได้มีผู้พยายามที่จะหาวิธีการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ให้หายขาด การรักษาในปัจจุบันได้แต่ใช้ยากดอาหารอักเสบของข้อต่อให้นานที่สุดที่จะนานได้ การให้อาหารเสริมซึ่งผลการรักษายังไม่ได้ผลแน่นอน การให้อาหารเสริมมีหลักการในการรักษาดังนี้
ลักษณะที่ 1 เป็นการเสริมอาหารที่ช่วยลดอาการปวดลงในอาหาร
ลักษณะที่ 2 เป็นการกำจัดสารที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของอาการปวด หรืออาการกำเริบออกจากอาหาร
อย่างไรก็ตาม อาหารที่มีไขมันต่ำ มีใยอาหาร , ผลไม้ , ผัก จะมีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มักจะมีอาการของโรคโลหิตจางร่วมด้วย อาจจะมาจากยาต้านการอักเสบ ( N ’ SAID s ) ที่รับประทานนาน ๆ ทำให้เป็นโรคแผลในกระเพาะ และมีเลือดออก การรับประทานธาตุเหล็กอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล
2. โรคข้อเสื่อม พบบ่อยในผู้ที่น้ำหนักตัวมาก และผู้สูงอายุ เป็นกับข้อต่อที่รับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า , ข้อตะโพก การลดน้ำหนักตัวด้วยการรับประทานอาหารที่ถูกวิธีร่วมกับการออกกำลังกาย ถ้าท่านมีปัญหาในการลดน้ำหนัก ปรึกษาแพทย์จะปลอดภัยที่สุด
3. โรคกระดูกพรุน , โรคกระดูกโปร่งบาง (Osteoporosis)โรคกระดูกพรุนพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนแล้ว
การรักษาโรคกระดูกโปร่งบาง หรือกระดูกพรุน โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้กระดูกแข็งแรงได้ ผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนแล้วควรให้อาหารเสริมแคลเซี่ยม 1 กรัม / วัน , วิตามินดี 40 ยูนิต / วัน ( นมที่ปราศจากไขมันครึ่งลิตรจะมีแคลเซี่ยมสูง 700 มก. )
ถ้าท่านอยากจะลองรับประทานอาหารเสริมขอแนะนำดังนี้
1. ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรจะรับประทานอาหารเสริมหรือไม่ ?
2. อย่าหยุดยาที่แพทย์สั่งให้รับประทาน
3. ควรจะให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดจากโรคข้อเสื่อม กลูโคซามิน , คอนดรอยติน ไม่สามารถรักษาอาการปวดจากโรคเนื้องอก ( Cancer ) , กระดูกหัก หรือข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้
4. อย่ารับประทานอาหารเสริม ถ้าท่านตั้งท้องหรือคิดว่าตั้งท้อง และไม่ควรให้เด็กรับประทาน
5. ถ้าท่านเป็นโรคเบาหวาน ถ้ารับประทานกลูโคซามิน ควรจะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้บ่อยขึ้น
6. คนที่แพ้อาหารทะเล จะมีโอกาสแพ้อาหารเสริมกลูโคซามีนด้วย
7. ถ้าท่านรับประทาน แอสไพริน ในการป้องกันหลอดเลือดตีบในหัวใจ ถ้ารับประทาน คอนดรอยติน ควรจะตรวจการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย
8. อย่าหยุดยาที่รับประทานในการรักษาโรคข้อ แม้ว่ารับประทานอาหารเสริมแล้ว ลดอาการปวดข้อได้
9. บริหารร่างกาย รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วนเกินไป และรับประทานอาหารตามที่แพทย์สั่ง
http://www.thaiarthritis.org/article02_k.htm