Tuesday, August 21, 2012

IBS Q&A


KP Wellness

11:37 AM  -  Public
Q) อยากทราบว่ายา spasmopriv ซึ่งจะใช้เป็นยารักษาโรคลำไส้แปรปรวน(IBS) ในคนเป็นโรคความดันโลหิตสูงและรูมาตอยด์ใช้ได้หรือไม่ และอยากทราบว่าจะเกิด Drug interaction กับยาต่อไปนี้หรือไม่ คือ manax , tenormin,placebo, cobalamin,dologesic ,inmet

A) Spasmopriv เป็นชื่อการค้าของยา Fenoverine มี 2 ความแรง คือ แคปซูลขนาด 100 มก. และ 200 มก.

### เภสัชวิทยา ###
กลไกการออกฤทธิ์ – Fenoverine ออกฤทธิ์แตกต่างจากยาต้านแคลเซียมชนิดอื่น (ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการไหลของแคลเซียมอิออนผ่าน calcium channels ที่เยื่อหุ้มเซลล์) คือ Fenoverine ออกฤทธิ์ปรับระดับแคลเซียมอิออนภายในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ (calcium modulator) ของระบบทางเดินอาหาร (หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็กส่วนต้น, ลำไส้ใหญ่, ท่อน้ำดี) และเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง โดยไม่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก (ได้แก่ ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย เหงื่อออกน้อย สายตาพร่ามัว ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง รูม่านตาขยาย (ทำให้กลัวแสง) และผลข้างเคียงต่อระบบประสาทกลาง เช่น ง่วงซึม ภาวะกายใจไม่สงบ อาการคลั่ง)

หมายเหตุ – บทบาทของแคลเซียมอิออนในการหดตัวของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ
(1) แคลเซียมอิออนที่ไหลเข้าเซลล์ช้า โดยแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ หรือผ่าน voltage-independent channels จะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเรียบหดตัวแบบตึงแข็ง
(2) แคลเซียมอิออนที่ไหลเข้าเซลล์ช้าและเร็ว ผ่าน voltage-dependent channels จะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเรียบหดตัวแบบบีบรูด (peristalsis) และหดเกร็งอยู่นาน
(3) แคลเซียมอิออนที่หลั่งอย่างรวดเร็วจากแหล่งกักภายในเซลล์ (ซาร์โคพลาสมิกเรติคิวลัม) จะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเรียบหดเกร็งชั่วครู่

ซึ่ง Fenoverine ออกฤทธิ์ปรับระดับแคลเซียมอิออนภายในเซลล์ โดยยับยั้งกระบวนการ (2) และ (3)

### ข้อบ่งใช้ ###
- ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้ใหญ่แปรปรวน, ลำไส้ใหญ่อักเสบเฉียบพลัน, ลำไส้ใหญ่อักเสบแบบหดเกร็ง
- ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน, แผลเปื่อยเพปติกในกระเพาะอาหาร, แผลเปื่อยเพปติกในลำไส้เล็กส่วนต้น, กระเพาะอาหารบางส่วนเลื่อนผ่านช่องกระบังลม, หลอดอาหารหดเกร็ง, หลอดอาหารอักเสบแบบมีแผลเปื่อยเพปติก, กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวผิดปกติหลังการผ่าตัด
- ความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น อาการปวดระดู, ปวดและหดเกร็งในอุ้งเชิงกราน, อาการปวดเกร็งหลังคลอด

### ข้อห้ามใช้ ###
- ผู้ที่แพ้ต่อส่วนประกอบใดๆ ของยานี้
- กำลังเป็นโรคตับ หรือมีประวัติโรคตับเรื้อรัง (เช่น โรคตับแข็ง, ตับอักเสบเฉียบพลัน, ตับอักเสบเหตุสุรา, โรคพิษสุราเรื้อรัง และมะเร็งตับ)
- มีประวัติภาวะตัวร้อนเกินในระหว่างหรือหลังการให้ยาระงับความรู้สึก
- โรคของกล้ามเนื้อที่เกิดจากไมโทคอนเดรียถูกทำลาย (mitochondrial myopathy) เช่น Kearns-Sayre syndrome (ซึ่งมีอาการสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ อัมพาตกล้ามเนื้อกลอกตาเรื้อรัง มีเม็ดสีสะสมในจอตา และโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ); โรคลมชักแบบกล้ามเนื้อกระตุกสั่นที่มีใยกล้ามเนื้อแบบ ragged-red (Myoclonic epilepsy with ragged-red fibers); MELAS syndrome (ย่อมาจาก Mitochondrial Encephalopathy, Lactic Acidosis, and Stroke-like episodes ซึ่งมีอาการชัก ปวดศีรษะ ภาวะสมองเสื่อม กรดแลคติกคั่ง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราวคล้ายสมองขาดเลือด)
- ภาวะไตทำงานบกพร่อง

### อาการไม่พึงประสงค์ ###
มีรายงานอาการปวดกล้ามเนื้อและภาวะกล้ามเนื้อลายสลายแบบกลับคืนปกติได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุที่ใช้ยาร่วมกันหลายชนิด และอาจรบกวนทางเดินอาหาร (GI upset) ได้บ้าง ซึ่งแก้ไขโดยการลดขนาดลง

### ข้อพึงระวัง ###
หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคของกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และพบแพทย์ โดยควรได้รับการตรวจวัดระดับเอนไซม์ creatinine phosphokinase (CPK) เพื่อยืนยันภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ซึ่งนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ และหากได้รับการตรวจ MtDNA Encephalomyopathy Profile อาจพบความผิดปกติทางพันธุกรรมของไมโทคอนเดรียที่ทำให้เกิดโรคของกล้ามเนื้อ (mitochondrial myopathy) ตามที่กล่าวมา ดังนั้นจึงต้องใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเกิดภาวะตัวร้อนเกิน (malignant hyperthermia) ในระหว่างหรือหลังการให้ยาระงับความรู้สึก ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่ใช้ยาร่วมกันหลายชนิด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่ทราบกันดีว่าทำให้กล้ามเนื้อลายอักเสบได้ ได้แก่ ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitors (Statins) เช่น Atorvastatin, Fluvastatin, Pravastatin, Simvastatin และยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม Fibric acid derivatives (Fibrates) เช่น Fenofibrate, Gemfibrozil เป็นต้น)

### คำเตือน ###
ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ที่มีการทำงานของไตหรือตับบกพร่อง

### สตรีมีครรภ์ และสตรีระยะให้นมบุตร ###
ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ และไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีระยะให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาถึงปริมาณยาที่ถูกขับออกทางน้ำนม

### ขนาดใช้ ###
ขนาดใช้ปกติสำหรับผู้ใหญ่ คือ กินครั้งละ 100 มก. วันละ 3 ครั้ง (หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น) หรือกินครั้งละ 200 มก. วันละ 2 ครั้ง (หลังอาหารเช้า-เย็น) แต่ไม่ใช้ติดต่อกันนานกว่า 6 สัปดาห์; ผู้สูงอายุห้ามใช้เกินวันละ 300-400 มก.; ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

### อันตกิริยาของยา ###
ยังไม่มีรายงานอันตกิริยาของ Fenoverine กับยาอื่น แต่ต้องติดตามอาการไม่พึงประสงค์เมื่อมีการใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น

### การเก็บรักษายา ###
ควรเก็บในที่เย็น (อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส) และแห้ง; เก็บยาให้พ้นมือเด็ก

### ราคาอ้างอิง ###
Fenoverine 100 mg capsules (ยี่ห้อ Spasmopriv บ. Eurodrug) ราคาเฉลี่ยแคปซูลละ 5.00 บาท (100.00 บาท/20 แคปซูล)

- ความดันเลือดสูง และรูมาตอยด์ (เข้าใจว่าคงหมายถึง ข้ออักเสบรูมาตอยด์) ไม่เป็นข้อห้ามใช้ของยา Fenoverine แต่ต้องติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาลดความดันเลือด ยารักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์ และอาการปวดกล้ามเนื้อ, ภาวะกล้ามเนื้อลายสลายจาก Fenoverine
- ยังไม่มีรายงานอันตกิริยาของ Fenoverine กับ Atenolol, Vitamin B12 (Cyanocobalamin), Paracetamol/Phenyltoloxamine (Dologesic), Indomethacin

Galeone M. และคณะ ศึกษาเปรียบเทียบการใช้ Fenoverine 200 มก. วันละ 2 ครั้ง (600 ราย) กับ Hyoscine-N-butylbromide 10 มก. วันละ 3 ครั้ง (200 ราย) ในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่แปรปรวนที่นอนรักษาในโรงพยาบาล (ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Clinical Research ฉบับที่ 3 ปี 1992) เป็นการศึกษาแบบ prospective, randomized, observer blind trial

ผลการศึกษา - พบว่าหลังใช้ยาไปแล้ว 14 วัน Fenoverine สามารถลดอาการต่างๆ ในโรคลำไส้แปรปรวน (ปวดท้อง, ตะคริวท้อง, ท้องอืด, ท้องผูก, ท้องร่วง) ได้ดีกว่า Hyoscine-N-butylbromide

(ข้อสังเกต – แม้จะเป็นการศึกษาแบบสุ่ม แต่จำนวนผู้ป่วยใน 2 กลุ่มไม่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีผลให้คะแนนเฉลี่ย (mean score) ของกลุ่มที่ได้รับยา Fenofibrate สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยา Hyoscine-N-butylbromide ได้

http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=6713 
แสดงคำถาม:ในหัวข้อเรื่อง อื่นๆ เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ »
PSU Drug Information Center บริการข้อมูลยาและเภสัชภัณฑ์ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน แหล่งชุมชนเภสัชกรผ่านเครือข่าย internet 

KP Wellness

11:33 AM  -  Public
Q) ผมเป็นโรค IBS กินยาแล้วก็ยังรู้สึกว่าลำไส้ยังบีบ
เกร็งอยู่เป็นพักๆครับ ไม่ค่อยทุเลาเท่าไรเลย
ยาLibrax กับ colpermin ทำงานยังไงครับ?

A) IBS มีชื่อเต็มว่า Irritable bowel syndrome แพทย์บางท่านเรียกว่า “โรคลำไส้แปรปรวน” โดยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทั้งๆ ที่โครงสร้างของอวัยวะไม่มีอะไรผิดปกติ อาการที่พบมีตั้งแต่ท้องเสีย ท้องผูก หรือทั้งสองอย่างสลับกัน ผู้ป่วยมักจะปวดท้อง แต่เมื่อได้ถ่ายอุจจาระจะหายปวดและสบายขึ้น หลายคนมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสุด หรือมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ซึ่งแต่ละคนจะมีรูปแบบของอาการที่ไม่เหมือนกัน โดยอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามกลุ่มอาการสำคัญ คือ

1. ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเด่น
2. ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเด่น
3. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเด่น

ส่วนสาเหตุของการเกิดโรค IBS นี้ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่คาดว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่างทั้งทางร่ายกายและจิตใจที่สำคัญ ดังนี้คือ

1. ความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ซึ่งอาจมากเกินไป พบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเด่นหรือมีความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารที่น้อยเกินไป พบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเด่น หรือสลับไปมาระหว่างทั้ง 2 อาการ

2. ความไวต่อความรู้สึกเจ็บปวดของอวัยวะภายในช่องท้องสูงขึ้น ซึ่งพบได้ทั้งในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม

3. การติดเชื้อในลำไส้ เช่น ท้องเสียจากการติดเชื้อ โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาของอาการกับความเสี่ยงในการเกิด IBS ถ้าอาการท้องเสียเป็นนานเกิน 2 - 3 สัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงของ IBS และความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้น ถ้าท้องเสียมานานมากกว่า 4 สัปดาห์

4. การได้รับสารบางชนิดที่มีฤทธิ์ระคายเคืองลำไส้ เช่น กรดน้ำดี กรดไขมัน เป็นต้น

5. ปัจจัยทางด้านจิตใจและสังคม ผู้ป่วย IBS บางรายอาจมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด หวาดระแวง กลัว เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

และเนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรค จึงยังไม่มียาเฉพาะโรคนี้ แพทย์จะให้การรักษา IBS ด้วยยาโดยขึ้นกับว่าผู้ป่วยมีอาการลักษณะใดเด่น (ท้องผูก หรือท้องเสีย หรือปวดท้อง) และตามความรุนแรงของอาการ ตลอดจนแก้ไขปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิด IBS ในผู้ป่วยรายนั้นๆ

ซึ่งหากพิจารณาจากยาที่ได้รับ น่าจะเป็น IBS แบบที่มีอาการปวดท้องเด่น เนื่องจาก

ยา Librax® เป็นชื่อการค้าของตัวยาผสม 2 ชนิดคือ Chlordiazepoxide hydrochloride ขนาด 5 มิลลิกรัม และ Clidinium bromide ขนาด 2.5 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 หรือ 2 แคปซูล วันละ 3 หรือ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ใช้เป็นยาต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ เพื่อลดอาการปวดมวนท้องและอาการท้องเสีย ทำงานได้โดยยับยั้งผลของการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า acetylcholine ที่กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ ทำให้การหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ลดลง

ส่วนยา Colpermin® เป็นชื่อการค้าของน้ำมันสะระแหน่หรือ peppermint oil ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ช่วยขับลม สามารถใช้บรรเทาอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อได้ โดยรับประทานครั้งละ 1 หรือ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเด่นนั้น อาจพิจารณาใช้ยาบรรเทาอาการปวดอีกกลุ่มหนึ่งร่วมด้วย เช่น ยา Amitriptyline, Imipramine, Doxepin เป็นต้น เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ทำงานแตกต่างจากยา 2 ชนิดข้างต้นคือ ลดการทำงานของสารสื่อประสาทอีกชนิดที่มีชื่อว่า norepinephrine ที่ตัวรับของมัน ทำให้อาการปวดลดน้อยลงได้ ซึ่งจะแนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเรื้อรังและกลับเป็นซ้ำบ่อย หรือใช้ยาอื่นบรรเทาอาการปวดแล้วไม่ได้ผล

เพราะฉะนั้นในกรณีที่ใช้ยา Librax® และ Colpermin® แล้วอาการยังไม่ทุเลาลง อาจไปพบแพทย์ก่อนวันนัด ในกรณีที่อาการรุนแรงมากขึ้น หรือทนอาการที่เป็นไม่ได้   และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการที่เป็นอย่างละเอียด เพื่อปรับเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษาที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น แต่ทั้งนี้การที่อาการยังไม่ทุเลาลงนั้น ต้องไม่ได้เกิดจากการที่รับประทานไม่ตรงตามที่แพทย์สั่ง

และเนื่องจากใน IBS มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่างทั้งทางร่ายกายและจิตใจ จึงขอแนะนำวิธีปฏิบัติตัว ดังนี้คือ

- คลายเครียด ด้วยการนั่งสมาธิ การออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ถ้ามีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น ก็ต้องเพิ่มอาหารที่อุดมด้วยเส้นใย

- ถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ก็ต้องดูแลเรื่องอาหารว่ามีตัวไหนก่อให้เกิดอาการท้องเสียหรือไม่ เช่น ในผู้ป่วยบางคนแพ้นมเพราะขาดน้ำย่อยย่อยนมวัว ก็ต้องเลี่ยงดื่มนมวัว นอกจากนี้น้ำตาล sorbitol ที่มีอยู่ในหมากฝรั่งอาจทำให้ผู้ป่วยบางคนท้องเสียได้

- ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องอืดนำ ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวการทำให้อาการกำเริบ เช่น อาหารอุดมด้วยไขมัน อาหารก่อให้เกิดแก๊สมากๆ เช่น ถั่ว ธัญพืชต่างๆ

แต่ทั้งนี้ควรจะทราบด้วยว่า ผลสำเร็จในการรักษาโรค IBS คือการที่ช่วยยืดระยะเวลาของช่วงที่ไม่มีอาการออกไปได้ ซึ่งพบว่ามีการรักษาได้หลายอย่าง บางครั้งต้องอาจใช้ยาหลายกลุ่มในการรักษาร่วมกัน เนื่องจากโรคนี้มีหลายกลุ่มย่อย และการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกัน บางครั้งอาจต้องใช้วิธีปรับยาหลายครั้งจึงดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ทำให้อาการดีขึ้นหรือหายชั่วคราว แต่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากโรค IBS จะมีอาการเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรงใดๆ เลย และในบางช่วงผู้ป่วยก็มีไม่มีอาการใดๆ เลย หากติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีการอธิบายอาการอย่างละเอียดระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ที่รักษา

http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=9390 
แสดงคำถาม:ในหัวข้อเรื่อง อื่นๆ เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ »
PSU Drug Information Center บริการข้อมูลยาและเภสัชภัณฑ์ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน แหล่งชุมชนเภสัชกรผ่านเครือข่าย internet 

KP Wellness

11:28 AM  -  Public
Q) สอบถามเรื่องยาเป็นIBS ใช่ยาอะไรรักษา
มีอาการถ่ายอุจจาระไม่สุดมีกลิ่นตดออกมาทั้งๆที่เราไม่ได้รู้สึกผายลม รู้สึกตุ่ยๆ และเกร็งบริเวณทวารหนักมาก ไม่ทราบว่ามียารักษาไหมครับ หมอโรงพยาบาลแถวสวนลุม...ไม่ให้ยามาทาน บอกไม่เป็นอะไร ทรมานเวลาออกไปข้างนอกคนอื่นเหม็นกลิ่น

A) IBSตามcriteriaของROME IIIมีหลักเกณฑ์ว่าคนไข้จะมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้องอย่างน้อย3วันในช่วง1เดือนและอาการที่เป็นติดต่อกันอย่างน้อย3เดือนโดยเริ่มมีอาการในช่วง6เดือนที่ผ่านมาซึ่งอาการที่เกิดขึ้นควรมีอย่างน้อย2อาการใน3อาการดังต่อไปนี้

1.อาการดีขึ้นหลังมีการขับถ่าย
2.อาการที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระเช่นจาก1ครั้งเป็น3-4ครั้ง
3.มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะของอุจจาระ(change in form of stool) เช่นเดิมถ่ายแข็งเป็นขี้แพะเปลี่ยนเป็นถ่ายเหลว

IBSจัดเป็นโรคในกลุ่ม Functional GI Disorder ที่ไม่มีพยาธิสภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาที่ผิดปกติของสมองกับทางเดินอาหาร ทำให้เกิดการบีบต้วของทางเดินอาหารที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป และพบว่ายังอาจจะมีสาเหตุจากภาวะ Hyperalgesia (การรับความรู้สึกเจ็บปวดที่ผิดปกติ) เช่นเมื่อมีสิ่งเร้าต่อผิวของลำไส้ในคนปกติจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในผู้ป่วย IBS จะมีอาการเช่นปวดท้อง นอกจากนี้เรายังพบว่า จะมีการหลั่งสารเคมีต่างๆร่วมด้วยในผู้ป่วย IBS เช่น 5-HT

ปัจจุบันสามารถแบ่งกลุ่มเป็น4ประเภทคือ
1.Constipation-predominant IBS ท้องผูกเด่นคือมีอาการมากกว่า 25% ที่อุจจาระค่อนข้างแข็ง และน้อยกว่า 25% ที่อุจจาระเหลว
2.Diarrhea-predomenant IBS ท้องเสียเด่น
3.Mixed IBS ท้องเสียสลับท้องผูก
4.Unsubtype IBS ไม่สามารถระบุได้เป็นแบบใด

ดังนั้นการวินิฉัยโรคIBSนอกจากต้องซักประวัติแล้วต้องตรวจแยกโรคอื่นๆที่เป็นสัญญาณอันตรายอื่นดังนี้
1.ไม่ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
2.น้ำหนักไม่ลด
3.ไม่ทอ้งเสียติดต่อกันเป็นเวลานาน
4.พึงระวังในผู้ป่วยที่มีอาการเป็นมาไม่นานมานี้โดยเฉพาะคนแก่
5.มีภาวะซีด
6.มีไข้
รวมทั้งต้องมีการตรวจเพิ่มเติมในรายที่สงสัยเป็นพิเศษเช่นเจาะลือด การทำ barium enema ส่องกล้อง

ยาที่ใช้ในการรักษานั้นมีหลายตัวครับ
1.ยา5-HT3 antagonist เช่น ALOSETRON ซึ่งมีข้อดีที่ใช้ในผู้ป่วยหญิงที่มีท้องเสียเด่น
2.ยา5-HT4 agonistเช่นTEGASEROD(ถูกถอนทะเบียนแล้ว)
3.Antidepressant เช่นTricyclic antidepressan tหรือ SSRI ซึ่งมีผลดีในแง่อาการปวดท้องในผู้ป่วยที่มีปัจจัยด้านจิตใจ
4.Antispasmodics โดยเฉพาะกลุ่ม Intestinal smooth muscle relaxant ที่ออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบของผนังลำไส้โดยตรง เช่ นMebeverine หรือ Pepermint oil ที่ มี Menthol ออกฤทธิ์ลดอาการหดเกร็งของลำไส้ และช่วยลดแรงตึงผิวของฟองแก๊สในลำไส้ ทำให้ฟองแก๊สแตกตัวและขับออกง่าย

ถ้าได้รับการตรวจวินิฉัยอย่างรอบคอบจากแพทย์แล้ว ไม่มีข้อแทรกซ้อนจากสาเหตุอื่นควรจะ
1.ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่าเครียด
2.ระวังเรื่องอาหารเช่น กินอาหารมื้อละน้อยๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มัน ชา กาแฟ โค๊ก แอลกอฮอล์โดยเฉพาะต้องสังเกตอาหารที่เป็นปัญหาสำหรับเราเอง

http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=11822 
แสดงคำถาม:ในหัวข้อเรื่อง อื่นๆ เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ »
PSU Drug Information Center บริการข้อมูลยาและเภสัชภัณฑ์ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน แหล่งชุมชนเภสัชกรผ่านเครือข่าย internet 

No comments:

Post a Comment