Tuesday, April 16, 2019

ปลาดิบกับพยาธิ

ปลาดิบกับพยาธิ

ท่านชอบรับประทานปลาดิบ?
หากท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่นิยมชมชอบปลาดิบ อาทิ ซูชิ ซาซามิ ที่ทำมาจากพวกปลาทะเล ท่านอาจจะได้รับสิ่งพิเศษตามมาพร้อมกับมีอาการคล้ายๆโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ อันเนื่องมาจากการติดเชื้อพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis)
พยาธิตัวกลมอะนิซาคิส
มีลักษณะเป็นเส้นสีขาว ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ที่สำคัญๆ คือ Anisakis simplex ตัวอ่อนของพยาธิอะนิซาคิส จะแทรกอยู่ภายในเนื้อปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาหมึก ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน ในประเทศไทยตรวจพบ ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุแรกล้วย ปลาลัง เป็นต้น
การระบาดของพยาธิ
พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เนเธอร์แลนด์ อเมริกาใต้ ประเทศไทยก็เคยมีรายงานการติดเชื้อ
อาการ
อาการต่าง ๆ อาจเกิดหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้ เป็นชั่วโมง หรือเป็นวันก็ได้ อาจจะพบอาการดังนี้
- อาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารจากการเกาะเจาะด้วยปากที่มีหนามและหางที่แหลม จนทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณลิ้นปี่
- คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย จะมีลักษณะอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคอาหารเป็นพิษ
การวินิจฉัย
ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
การรักษา
- ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิชนิดนี้
- ใช้กล้องคีบตัวพยาธิออก ถ้าพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้
การป้องกัน
- ไม่รับประทานเครื่องในปลาแบบดิบ ๆ
- ตรวจดูเนื้อปลาก่อนว่ามีสิ่งแปลกปลอมลักษณะเส้นสีขาวคล้ายๆตัวพยาธิอะนิซาคิสหรือไม่
- นำปลามาแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนทำการประกอบอาหาร
- นำปลามาประกอบอาหารด้วยการผ่านความร้อน 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 1 นาที
เอกสารอ้างอิง
- Uichiro Fuchizaki and Masahi Nishikawa. Gastric Anisakiasis. N Engl J Med 2016; 375:e11
- Center for Disease Control and Prevention, USA. Anisakiasis. https://www.cdc.gov/dpdx/anisakiasis/index.html
- พัชรพร เตชะสินธุ์ธนา. สิ่งที่มากับ…..ปลาดิบ. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=437
- ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์. Anisakis ในพยาธิตัวกลม. ตำราปรสิตวิทยาทางการพยาบาลและสาธารณสุข. 2562, 410 หน้า
กินปลาร้าติดพยาธิ?
—> ขอนำมาลงอีกครั้ง เนื่องจากมีข้อคำถามสนใจเข้ามาเยอะมาก เพื่อให้เกิดความตระหนัก มากกว่าตระหนก และเข้าใจมากขึ้น 
—> น้อยคนนักจะไม่เคยล้ิมรสปลาร้า เมนูนิยมก็คือนำมาทำส้มตำปลาร้า ซึ่งปลาร้านั้นมีสูตรการทำที่หลากหลายตามท้องถิ่นวัฒนธรรม รสชาติก็แตกต่างกันไป 
—> ส่วนประเด็นสำคัญคือแล้วกินปลาร้าติดพยาธิหรือไม่ ถ้ากลัวว่าจะติดแล้วติดพยาธิอะไร และที่กินเข้าไปก่อนหน้านั้นล่ะจะต้องทำอย่างไร 

<> กินปลาร้าติดพยาธิหรือไม่
กับคำถามนี้ ตอบได้ว่าทั้งติดและไม่ติด 
       ~ จะติดก็ต่อเมื่อกินปลาร้าดิบที่หมักเพียงสองสามวัน (ปกติปลาร้าหมักเป็นเดือนขึ้นไป) และเป็นปลาเกล็ดขาวกลุ่มวงศ์ปลาตะเพียน เช่น ปลาขาวนา ปลาสร้อย กระสูบ ตะเพียน เป็นต้น 
       ~ จะไม่ติดพยาธิกรณีกินปลาร้าที่หมักนานนับปีหรือปลาร้าต้มสุก และในเนื้อปลาเองก็ไม่ใช่ว่าทุกตัวจะมีพยาธิ 

<> กินปลาร้าติดพยาธิอะไร
ปลาน้ำจืดมีตัวอ่อนของพยาธิมากมายหลายชนิด ส่วนมากจะเป็นปลาเกล็ดขาว กลุ่มวงศ์ปลาตะเพียน ซึ่งเป็นที่นิยมนำมาทำปลาร้า 
       ~ ปลากลุ่มนี้มักจะมีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ขนาดกลาง และพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดเล็ก ตัวที่อันตรายสุดก็พยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) ตัวนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเป็นมะเร็งท่อน้ำดี มีงานวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและทางระบาดวิทยา พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบอุบัติการณ์สูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และสูงที่สุในโลก 
       ~ นอกจากกลุ่มพยาธิใบไม้แล้ว ก็อาจจะพบพยาธิตืดปลา พยาธิตัวกลม (ตัวจี๊ด)ในปลาอื่นๆ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก แต่พยาธิเหล่านี้พบไม่บ่อย

<> กินปลาร้าเป็นประจำต้องทำอย่างไร
- กรณีทำเอง
       ~ นำปลามาแช่แข็งที่ -20 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น ประมาณ 3-4วัน ความเย็นที่อุณหภูมิต่ำจะทำให้พยาธิตาย ใช้ช่องแช่แข็งตู้เย็นทั่วไปก็ได้ ถ้าความเย็นใกล้เคียง -20 องศาเซลเซียส
       ~ ระยะเวลาหมักปลาร้า ต้องหมักอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป ระยะเวลานานก็จะทำให้พยาธิตาย
       ~ ต้มปลาร้าให้สุก ความร้อนเป็นการกำจัดพยาธิและรวมถึงแบคทีเรียด้วย
- กรณีกินตามร้านทั่วไป
       ~ สอบถามเจ้าของร้านเกี่ยวกับกระบวนการทำปลาร้า
       ~ สังเกตเนื้อปลา หากยังแดงๆและเนื้อแน่นๆ มีกลิ่นคาว แสดงว่าหมักไม่นาน
       ~ ปลาร้าไม่ควรเติมดินประสิว เพราะเป็นสารกลุ่มที่ทำให้เกิดมะเร็ง
       ~ ควรตรวจพยาธิอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เอกสารอ้างอิง
- Onsurathumab S et al. Contamination of Opisthorchis viverrini and Haplorchis taichui metacercariae in fermented fish products in northeastern Thailand markets. Food Control 2016;59: 493-498
- Sripan P., et al., Simplified Techniques for Killing the Carcinogenic, Opisthorchis Viverrini Metacercariae in Cyprinid Fish. Asian Pacific Journal of Cancer Prevention, 2017;18:1507-1511
- ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์. พยาธิใบไม้. ตำราปรสิตวิทยาทางการพยาบาลและสาธารณสุข. 2562, 410 หน้า

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1640296082812585&id=532472910261580




ด้วยความห่วงใย

.....................
BETTER PHARMACY เจ็ดยอด เชียงใหม่
เราคัดสรรสิ่งที่ดี มีคุณภาพ เพื่อคุณ

FACEBOOK / BetterPharmacyCMG
LINE ID - BETTERCM
.....................


UPDATE  -  2020.05.26

No comments:

Post a Comment